⦿ ลูกจ๋ามากินข้าว (ลูกก็เล่น)
⦿ ลูกจ๋าอย่าโยนของ (ลูกก็โยน)
⦿ ลูกจ๋าแม่บอกให้มาอาบน้ำ (ลูกก็ไม่สนใจ)
⦿ เวลาไม่ได้ดั่งใจก็ร้องไห้จนบ้านแทบแตก
ปัญหานี้คุณพ่อคุณแม่เพลียกันไปเป็นแถบๆ ร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำไมลูกฉันดื้อจัง ไม่รู้จะทำยังไงดีแล้ว
.
วิธีรับมือกับเหล่าบรรดาเด็กดื้อ
ก่อนอื่นอยากให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจก่อนว่า “ความดื้อ” คือพัฒนาการตามวัยของเด็กอย่างหนึ่ง การที่เด็กเล็กวัย 0-6 ปี แสดงอาการต่อต้านพ่อแม่ เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและพัฒนาการของเขา ลูกกำลังทดสอบกรอบที่พ่อแม่วางไว้ เพื่อดูว่าตัวเองอยู่ในภาวะที่เข้มงวดแค่ไหน การที่เด็กวัยนี้ดื้อไม่ใช่เรื่องที่เลวร้าย การทดสอบขีดจำกัดเหล่านี้เป็นการแสดงออกถึงการเติบโตทางจิตใจว่าลูกของคุณกำลังคิดด้วยตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้เหตุผล และตัดสินใจเลือก ในฐานะพ่อแม่คุณควรรู้ให้ทันพัฒนาการของลูกน้อย และเตรียมตัวเตรียมใจรับมือให้เหมาะสมกับพัฒนาการตามวัยนั้นๆ และช่วยให้ลูกปรับตัวจากเด็กดื้อกลับมาเป็นเด็ก มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย สามารถใช้ชีวิตทั้งในบ้านและสังคมนอกบ้านได้อย่างมีความสุข
.
เด็กดื้อเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ส่วนหนึ่งอยู่ที่ตัวของเด็กเอง เพราะเด็กทุกคนเกิดมาย่อมไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ที่แตกต่างกัน อันเป็นปัจจัยทางชีวภาพที่ติดตัวเด็กมาแต่กำเนิด และพื้นอารมณ์นี้จะติดตัวคนเราไปตลอดชีวิต โดยอาจเปลี่ยนแปลงได้บ้างตามการเลี้ยงดู
.
ทำไมลูกร้องไห้เอาแต่ใจ
ธรรมชาติของมนุษย์เกิดมาล้วนต้องการความสุขสมหวัง เด็กเล็กๆ ก็เช่นกัน แต่ธรรมดาของโลกอีกเช่นกันที่ไม่มีใครสามารถสุขสมหวังได้ตลอดเวลา เมื่อเด็กไม่ได้ดั่งใจขึ้นมาก็เกิดความคับข้องใจ เขาจึงต้องบรรเทาอาการคับข้องใจนั้นและขอด้วยอาวุธที่ติดตัวมาแต่เกิด คือการร้องไห้โวยวาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราต้องให้ลูกบรรเทาด้วยวิธีนี้ตลอดเวลา เพราะเมื่อเราช่วยลูกควบคุมอารมณ์ร้องไห้เอาแต่ใจเป็น ระดับความอึดหรือความอดทนต่อความคับข้องใจของลูกก็จะสูงขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า ลูกจะรู้จักผิดหวัง อดทน และรู้จักตัดใจเก่งยิ่งขึ้น
.
หากพ่อแม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรจากลูก เด็กจะปรับตัวได้ง่ายและเร็ว ไม่ร้องไห้นาน นั่นคือพ่อแม่ต้องมีกฎในใจตนเองแล้วบังคับใช้ให้เป็น แต่สำหรับพ่อแม่บางคนยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่าเรื่องนี้จะเอาจริงดีไหม เช่น ลูกไม่แปรงฟันได้ไหม หรือบางคนชัดเจนว่ามีกฎ แต่ตอนบังคับใช้กลับไม่จริงจัง หากพ่อแม่เบลอๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ ลูกก็จะมึนงงไปด้วย การปรับตัวสร้างสมดุลให้ตนเองของลูกระหว่างเชื่อตนเองกับเชื่อพ่อแม่ก็จะยากและกินเวลานาน บางคนร้องไห้เอาแต่ใจไปจนถึง 7-8 ขวบก็มี
.
อย่าลืมว่า การทำให้เด็กสร้างสมดุลระหว่างการเป็นตัวของตัวเองกับการเชื่อฟังพ่อแม่นั้นไม่ใช่เกมแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อพ่อแม่เห็นพฤติกรรมร้องไห้เอาแต่ใจขอให้ใช้ “เทคนิคเพิกเฉย” ทันที เทคนิคนี้สามารถทำได้เมื่อลูกอายุประมาณ 1 ขวบขึ้นไป
.
เทคนิคเพิกเฉย
เทคนิคการเพิกเฉยขณะที่ลูกร้องไห้เอาแต่ใจ เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้การควบคุมตนเอง ไม่ใช่การทอดทิ้งลูก และบ่อยครั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราได้สงบสติอารมณ์ตนเองด้วยเช่นกัน การพยายามโอ๋ลูกอย่างที่พ่อแม่หลายคนชอบทำ นอกจากไม่ช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองแล้ว ยังส่งผลเสียต่อพ่อแม่ เพราะเด็กจะมองไม่เห็นความชัดเจนของการเป็นผู้นำและไม่เห็นความเข้มแข็งของเรา โดยเทคนิคเพิกเฉยประกอบด้วยขั้นตอนต่อไปนี้
.
⦿ ขั้นที่ 1 สงบสติอารมณ์ เริ่มจากตัวคุณเองต้องอารมณ์เย็นเสียก่อน (เทคนิคนี้ห้ามทำตอนเรามีอารมณ์ เพราะจะกลายเป็นเราทอดทิ้งลูก)
.
⦿ ขั้นที่ 2 มองหน้าลูก คุณต้องมองหน้าสบตาลูกให้ได้ และพูดด้วยเสียงนิ่ง สีหน้าเรียบอย่างจริงจัง “แม่จะรอหนูเงียบ เราถึงจะคุยกัน”
.
⦿ ขั้นที่ 3 เพิกเฉยลูก ต่อมาให้คุณเพิกเฉยลูก ทั้งคำพูด ท่าที สายตา ไม่พูดซ้ำว่าลูกต้องเงียบ เพราะจะเป็นการเพิกเฉยไม่จริง รวมทั้งไม่เช็ดน้ำตาหรืออุ้ม ถ้าลูกพยายามเข้ามาให้กอดหรือให้อุ้ม ก็ควรลุกขึ้นยืนและหันไปทำอย่างอื่นแทน แต่อย่ามีท่าทีทอดทิ้งลูกไป ต้องเป็นท่าทีว่าเรามีงานอื่นที่ต้องทำ หากเราหวั่นไหวและลูกก็สามารถจับไต๋ได้ ให้เบี่ยงเบนตัวเองออกจากตรงนั้นด้วยการทำงานง่ายๆ ใกล้ตัวแทน เช่น พับผ้า ล้างจาน
.
กรณีที่ลูกทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายคนอื่น รวมทั้งการทำลายข้าวของ อนุญาตให้หยุดเพิกเฉยชั่วคราว ถ้าลูกทำเช่นนั้นให้หันกลับไปจับมือลูกแน่นๆ ประมาณ 10 วินาที และมองหน้าลูกพร้อมพูดด้วยเสียงเรียบนิ่งว่า “ไม่ตีแม่/ไม่โยนของ” แล้วแกะของออกจากมือ จากนั้นปล่อยมือลูกและเฝ้าดูอีกสักครู่ หากลูกลุกขึ้นมาตีหรือโยนของอีกให้ทำซ้ำแบบเดิมจนกว่าลูกจะหยุด แล้วให้กลับไปเพิกเฉยต่อ
.
⦿ ขั้นที่ 4 กลับไปหาลูก เมื่อลูกเงียบแล้ว ให้คุณกลับไปหาลูก จำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเข้าไปหาลูกเพื่อตอกย้ำเขาว่า เขาจะได้รับความสนใจก็เมื่อมีพฤติกรรมที่ดี เงียบ และจะถูกเพิกเฉยเมื่อมีพฤติกรรมร้องไห้เอาแต่ใจ โดยควรพูดกับลูกดังนี้
.
“ชม” ให้ชมลูกแบบบรรยายพฤติกรรม เช่น “หนูเงียบแล้ว หนูเก่งค่ะลูก”
“คุย” ถามลูกว่า “เมื่อกี้นี้เกิดอะไรขึ้น” เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้ทบทวนเรื่องราวด้วยตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจตัวเองได้ดีกว่าการรอคำสอนอย่างเดียว และยังเป็นการกระตุ้นความฉลาดด้านการเข้าใจตนเองของลูกไปด้วยในตัว แต่หากลูกยังเล็ก และตอบไม่ได้ เราจะต้องเป็นคนค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องให้ลูกเข้าใจ เช่น ถ้าลูกเพิ่งจะอายุ 1 ขวบ ขั้นตอนการกลับไปหาลูกจะต้องสั้นและกระชับมาก แต่จะมาโดดเด่นตอนตบบวก เพื่อให้ลูกเชื่อมโยงได้ง่ายขึ้นว่า เวลาที่ร้องไห้งอแงแล้วเงียบ พ่อแม่ถึงจะมาเล่นด้วย
“ตบบวก” คือการหากิจกรรมที่ลูกชอบให้เขาทำเพื่อเป็นการปลอบลูก เช่น เล่านิทานให้ฟัง เล่นด้วยกัน แต่ไม่แนะนำให้เป็นสิ่งของ เพราะเด็กอาจเชื่อมโยงการหยุดร้องไห้กับการได้สิ่งของแทน
.
โดยทั่วไปเมื่อเริ่มทำเทคนิคเพิกเฉยในครั้งแรก การร้องไห้จะรุนแรงขึ้นและยาวนานกว่าปกติที่ลูกเคยงอแง แต่ไม่ต้องตกใจ เข้าใจผิด คิดว่าเราทำอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือเปล่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูกรู้สึกได้ว่าพ่อแม่ไม่ง่ายเหมือนเดิม จึงแสดงอาการมากขึ้นเพื่อเรียกร้องให้เรากลับไปตอบสนองเขาแบบเดิม ขอให้อดทนไว้ก่อน อย่าใจอ่อนง่ายๆ เพราะครั้งต่อๆ ไป อาการของเขาจะเบาลงเรื่อยๆ
.
“จงอย่ากลัวที่จะทำเพิกเฉยเมื่อลูกร้องไห้เอาแต่ใจ แต่จงกลัวที่จะเป็นยักษ์กับลูก เพราะการเพิกเฉยไม่ทิ้งผลข้างเคียงอะไรไว้กับลูก แต่หากตอบสนองลูกด้วยอารมณ์โกรธ ตวาด หรือดุลูกด้วยความรุนแรงก้าวร้าว ลูกจะรับความก้าวร้าวรุนแรงไว้ในหัวใจแบบเต็มๆ การเลี้ยงลูกที่มีภาวะดื้อและต่อต้านเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ แต่เด็กก็จะสามารถดีขึ้นได้ หากได้รับการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมจากคนในครอบครัว ขอให้คุณพ่อคุณแม่ค้นให้พบและปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดู อีกไม่นานเขาก็จะกลับมาเป็นเด็กดีให้คุณพ่อคุณแม่ได้ชื่นใจอย่างแน่นอน”
.
บทความจาก >> โรงพยาบาลสมิติเวช