สะดือเด็กทารก เด็กแรกเกิด หากไม่มีการอักเสบติดเชื้อก็จะหลุดได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากสะดือหลุดไปแล้วบริเวณสะดือของทารก อาจจะมีการซึมของเลือดออกมาบ้างเล็กน้อย หรือในเด็กบางรายอาจจะมีติ่งเนื้อก้อนเล็กๆ ยื่นออกมาอยู่ในส่วนของสะดือ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติไม่ได้มีอันตรายแต่อย่างใด เมื่อสะดือแห้งดีแล้วก้อนเนื้อนี้ก็จะหายไปเองได้ โดยสะดือของเด็กแรกเกิดที่ปกติ ไม่มีการติดเชื้ออักเสบร่วมด้วยจะค่อยๆ แห้งและหลุดไปได้เอง
ข้อควรรู้
⦿ เด็กที่คลอดธรรมชาติจะมีระยะเวลาที่ทำให้สะดือหลุด 7-10 วัน
⦿ เด็กที่คลอดโดยวิธีผ่าตัดทางหน้าท้อง จะมีระยะเวลาที่สะดือหลุดคือ 10-21 วัน
⦿ ในเด็กที่สะดือแห้งช้าก็ไม่ได้มีความผิดปกติแต่ประการใด ถึงแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ดูแลทำความสะอาดได้ดีอยู่แล้ว แต่บางครั้งเด็กอาจจะมีอาการแสดงช้า หรือมีติ่งเนื้อก้อนใหญ่เกิดขึ้นได้ ก็ไม่ได้มีอะไรน่าเป็นห่วงส่วนใหญ่ สายสะดือที่แห้งดีแล้วจะหลุดล่อนตกสะเก็ดออกมา ไม่เจ็บแต่อย่างใด
⦿ หากเลือดออก มีไข้ และมีกลิ่นควรมาพบแพทย์
.
7 ข้อ ที่ห้ามทำกับสะดือลูก
1. ห้ามโรยแป้งบนสะดือ เพราะแป้งจะไปอุดตันสะดือลูก ทำให้สะดือแห้งช้า เป็นที่หมักหมมของเชื้อโรค และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้
2. ห้ามทาโลชั่นหรือเบบี้ออยล์ เพราะจะทำให้เกิดความอับชื้นและเกิดเชื้อราขึ้นได้
3. ห้ามทามหาหิงค์ นอกจากจะไม่ช่วยให้สะดือหลุดเร็วแล้วยังทำให้สะดือของลูกอับชื้นและอักเสบได้อีกด้วย
4. ห้ามแกะ ปล่อยให้สะดือของลูกหลุดเองจะดีกว่า เพราะอาจทำให้สะดือลูกเป็นแผล และเกิดการอักเสบตามมา
5. ห้ามใส่ผ้าอ้อมหรือกางเกงหนาๆ ทับแต่ควรให้ขอบกางเกงหรือขอบผ้าอ้อมต่ำลง เพราะถ้าสะดือลูกโดนขอบผ้าอ้อมปิดทับจะทำให้อากาศไม่ถ่ายเท เกิดการอับชื้น แห้งช้า มีกลิ่น และอาจปนเปื้อนสิ่งอุจจาระ ปัสสาวะได้
6. ห้ามใช้แอลกอฮอล์เช็ดในสะดือเด็ดขาด เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกแสบได้ โดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์เช็ดจากโคนสะดือ วนออก แล้วต้องไม่วนใหม่ ป้องกันเชื้อกลับเข้าไป
7. ห้ามเป่าสะดือลูก เพราะในช่องปากของผู้ใหญ่อาจมีแบคทีเรียหรือเชื้อ อาจทำให้สะดืออักเสบจากการติดเชื้อได้
.
อ่านต่อความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กทารก >> การเช็ดตัวลดไข้ในเด็ก