การใช้ยา หรือ การป้อนยาเด็ก ที่ร่างกายยังเติบโตไม่เต็มที่เท่าผู้ใหญ่ ต้องเพิ่มความระมัดระวังกว่าปกติ เพราะหากเกิดความผิดพลาดขึ้นแล้ว ผลเสียที่เกิดกับเด็กจะร้ายแรงกว่าที่เกิดกับผู้ใหญ่หลายเท่า และอาจเป็นเหตุผลว่า กินยาแล้วทำให้ลูกไม่หายป่วยสักที
.
หลักการใช้ยาเบื้องต้นในเด็ก คือ
1.ไม่ควรใช้ยาโดยไม่จำเป็น หากเลี่ยงได้ควรเลี่ยง เพราะโรคบางโรคที่ไม่รุนแรง สามารถปล่อยให้อาการหายเองได้
2. ควรเลือกยาที่มีความปลอดภัยสูง โดยพยายามเลือกยาที่คุ้นเคย หรือที่เคยใช้แล้วปลอดภัย พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดใหม่ๆโดยไม่จำเป็น
3. ควรอ่านฉลากยาให้ถี่ถ้วนก่อน ควรสังเกต และ จำว่ายาที่เคยใช้กับลูก เปลี่ยนแปลงจากที่เคยใช้ หรือไม่ เพราะเภสัชกรมักเลือกยาประเภทน้ำเชื่อมให้เด็ก ซึ่งอาจจะหมดอายุเร็วกว่ายาเม็ด ถ้ายามีลักษณะต่างไปจากปกติตอนแรก ไม่ควรให้ลูกกิน
.
เอกสารประกอบยา หรือ สลากข้างขวดยา อาจมีการแบ่งช่วงอายุเด็กต่างกันไป ดังนี้
1. เด็กแรกเกิด (New Born) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 4 สัปดาห์
2. เด็กอ่อนหรือทารก (Infant) หมายถึง เด็กแรกคลอดจนถึง 1 ขวบ
3. เด็กเล็ก หมายถึง เด็ก 1 – 6 ขวบ
4. เด็กโต หมายถึง เด็ก 6 – 12 ขวบ
5. สำหรับเด็กอายุ 12 ขวบขึ้นไป สามารถให้ยาได้เหมือนกับผู้ใหญ่
.
การป้อนยาเด็ก แบบผิดๆ
ลูกป่วย พอให้กินยาแล้ว ทำไมลูกกินยาแล้วไม่หายสักที บางครั้งอาจไม่ใช่ความผิดของยา แต่เป็นเพราะแม่ให้ลูกกินยาผิดวิธีอยู่หรือเปล่า จึงทำให้ยาไม่ได้ผล
.
ให้ยาผิดขนาด แม่หลายคนสับสนปริมาณ หน่วยวัด ช้อนชา ช้อนโต๊ะ มิลลิกรัม มิลลิลิตร พอบอกช้อนช้า ช้อนโต๊ะ บางคนก็ใช้ช้อนในครัวเอาเลย ซึ่งปริมาณยาของเด็กนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ให้มากไป น้อยไป อาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี หรือ การให้ยากับเด็ก ก็มีปริมาณที่ต่างจากผู้ใหญ่ ต้องคำนวณจากน้ำหนักตัวด้วย
กินยาผิดเวลา ยาแต่ละชนิดที่ต้องกำหนดเวลากินว่าก่อนอาหาร หลังอาหาร ก่อนนอน เพราะยาแต่ละชนิดจะทำปฎิกิริยาในร่างกายต่างกัน จึงต้องกินตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด บางคนลืมกินก่อนอาหาร ก็ให้ลูกกินหลังอาหารแทน ซึ่งอาจมีผลกับฤทธิ์ยาได้
กินยาซ้ำ เพราะลืมกินยา ถ้าลืมกินยา เช่น ลืมกินยาก่อนอาหาร ให้ข้ามไปมื้อถัดไปเลย แต่ถ้าเป็นยาหลังอาหาร ยังไม่เกิน 30 นาที ยังให้กินได้ แต่ถ้าเกินแล้วก็ควรรอมื้อถัดไป เช่นกัน
อาเจียนแล้วให้ลูกกินยาซ้ำ ในกรณีถ้าลูกกินยาแล้วอาเจียนออกมาทันที สามารถให้ยาซ้ำได้ แต่ถ้าผ่านไปสักพักลูกถึงอาเจียน ไม่จำเป็นต้องให้ยาเพิ่ม เพราะตัวยาอาจจะดูดซึมเข้าร่างกายแล้ว ถ้าให้ยาเพิ่มอาจจะได้รับเกินขนาด
ให้กินยาพร้อมนม ไม่ควรผสมยากับนมทั้งขวด เพื่อให้ลูกดูดจากขวดนม เพราะหากลูกกินไม่หมด จะทำให้ได้รับยาไม่ครบขนาด และยาหลายชนิดมีฤทธิ์ลดลง เนื่องจากยาทำปฏิกิริยากับโปรตีน หรือจับกับแคลเซียมในนม และยาจะทำให้นมมีรสเปลี่ยนไป ลูกอาจจะไม่ยอมกินนมอีกเลย
บีบจมูกตอนป้อนยา กลัวลูกจะขมเลยบีบจมูกลูก ให้ลูกกลั้นใจกินยา ไม่ควรทำวิธีนี้ เพราะการป้อนยาโดยให้ลูกบีบจมูก จะทำให้ลูกสำลักยา อันตรายกับลูกได้
กินยาไม่ครบโดส ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือยาฆ่าเชื้อ จำเป็นต้องกินยาให้ครบตามจำนวนที่หมอ หรือ เภสัชกรจ่ายยามา ถึงแม้จะหายป่วยแล้วก็ตาม เพราะหากกินยาไม่ครบ อาจทำให้เชื้อโรคกลับมาใหม่ หรือ มีอาการดื้อยา ทำให้การใช้ยาในครั้งต่อๆ ไป อาจไม่ได้ผล
.
7 เทคนิค การป้อนยาเด็ก เมื่อลูกกินยายากไม่ยอมกินยา
ป้อนยาลูกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม เวลาป้อนยาลูก ให้ทำเหมือนการกินยาเป็นเรื่องปกติ อย่าแสดงความเครียด วิตกกังวลออกมา จะทำให้ลูกหวาดกลัว และกินยายากขึ้น หรือไม่ยอมกินยา
ใส่ยาในจุกนมยาง ในเด็กแรกเกิด เราอาจใช้วิธีใส่ยาลงในจุกนมยางที่ลูกใช้ดูดนม หรือน้ำ เป็นประจำ โดยถอดจุกออกจากขวด แล้วใส่ยาในปริมาณที่ต้องการลงไป แล้วนำจุกนมไปใส่เข้าในปากลูก ในเด็กเล็กๆ เวลามีอะไรอยู่ในปากเขาจะดูดเสมอตามสัญชาตญาณ ลูกก็จะดูดยา และกลืนยาเข้าไป เมื่อยาหมด ให้เอาจุกออก เพื่อไม่ให้ลูกดูดลมเข้าไป จนท้องอืด มีลมในกระเพาะ
ใช้หลอดฉีดยาหรือไซริงค์ช่วย ในเด็กทารก 1 เดือนขึ้นไป หลอดฉีดยาพลาสติก หรือ ไซริงค์แบบไม่มีเข็ม ใช้ช่วยป้อนยากับลูกได้ง่าย และแม่นยำมากขึ้น เพราะจะมีขีดกำกับบอก วิธีการคือให้แม่ดูดยาให้เรียบร้อย จากนั้นจับอุ้มลูกในท่าที่ถนัด ให้คุณพ่อช่วยหลอกล่อเล่นกับลูกไป จากนั้นฉีดยาเข้าในปากลูก ให้ฉีดไปบริเวณกระพุ้งแก้มของลูก อย่าฉีดลงคอโดยตรง เพราะจะทำให้ลูกสำลักได้ ควรทำด้วยความมั่นใจ ใช้ความอดทน ไม่ขู่บังคับ เพราะลูกอาจจะร้องไห้ ขัดขืน หรืออาเจียนออกมาได้
ผสมยากับน้ำหวาน ในยาบางชนิดที่มีรสขม จนลูกกินไม่ได้ อาจจะผสมด้วยน้ำหวานเล็กน้อย แต่ต้องเป็นน้ำหวานแบบเข้มข้นพอให้ยาละลาย แล้วค่อยให้ลูกกินหมดในทีเดียว เพราะหากผสมน้ำหวานที่เหลวมาก หรือน้ำนม ยาอาจจะตกตะกอน หรือลูกกินทีเดียวไม่หมด ทำให้ได้ยาไม่ครบตามขนาด
บดยาเม็ด หรือแกะแคปซูลยา ในยาแบบแคปซูลโดยปกติไม่ควรแกะยาข้างในออก แต่ถ้าลูกกินยายาก อาจจะแกะยาออกมาผสมน้ำหวานได้ หรือหากเป็นยาเม็ด อาจจะบดยาผสมน้ำหวานได้ เช่นกัน
เลือกยาน้ำ รสผลไม้ กินง่าย ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ไอละลายเสมหะ จะมีการปรุงรสผลไม้ให้กินง่ายขึ้น แต่ควรเลือกยาที่มีตัวยาขมน้อย เป็นสูตรยาที่ปราศจากน้ำตาล และแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันลูกฟันผุ
อย่าโกหกหรือขู่ลูก เวลาป้อนยาในเด็กที่โตพอรู้เรื่องแล้ว อย่าโกหกลูกว่า ยาอร่อย หวาน ถ้ายาไม่ได้หวานจริงอย่างที่บอก ให้บอกลูกตามความจริง ว่ากินยาแล้วจะช่วยให้ลูกดีขึ้น ยาช่วยให้หายป่วย ออกไปเล่นได้ แล้วห้ามขู่ลูก เช่น ไม่กินยาแล้วผีจะมาหลอก ตำรวจจะมาจับ เพราะจะสร้างทัศนคติที่ไม่ได้ต่อการกินยาของลูก
ชื่นชมลูก เมื่อป้อนยาลูกเสร็จ หลังป้อนยาลูกเสร็จ ให้รีบกอด หรือ ชื่นชมลูกทันที อาจจะชวนลูกเล่นของเล่นที่ชอบ หรือ เล่านิทานให้ฟัง
.
การป้อนยาเด็ก เป็นเรื่องที่คุณพ่อ คุณแม่ อาจมีรำคาญใจอยู่บ้าง เพราะ เด็กๆ อาจดื้อไม่ยอมกินยาโดยง่าย จึงต้องอาศัยความใจเย็น และอดทน ไม่เช่นนั้นอาการป่วยก็ไม่หาย ลูกก็จะป่วยต่อเนื่อง จนถึงขั้นร้ายแรงก็เป็นได้
.
บทความจาก >> GED Good Life