พัฒนาเด็กน้อยวัย 2 ขวบ

สัญญาณเตือนแบบไหนที่แสดงว่าเด็กมีพัฒนาการช้า  เมื่อลูกน้อยมีอายุเข้าถึงวัย 2 ขวบ นั่นคือช่วงเวลาที่เขาได้เปลี่ยนจากเด็กทารก เข้าสู่การเป็นเด็กวัยเตาะแตะ และเตรียมเข้าสู่วัยอนุบาล ซึ่งในช่วงวัยนี้ ลูกจะมีพัฒนาการที่สำคัญมากมายหลายอย่าง เช่น จากที่พูดไม่เป็นภาษา ก็จะเริ่มสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่เป็นคำได้แล้ว และแน่นอนว่าลูกๆ มีความสนใจในสิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ในวันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องพัฒนาการของลูกวัย 2 ขวบกันค่ะ

.

พัฒนาการของลูกน้อยวัย 2 ขวบ วัยนี้ลูกน้อยควรทำอะไรได้บ้าง

สำหรับพัฒนาการของลูกน้อยวัย 2 ขวบนั้น สามารถแบ่งได้เป็นสี่ประเภท ดังนี้

1. พัฒนาการด้านภาษา ลูกวัย 2 ขวบนั้นจะเริ่มเข้าใจในการใช้ภาษามากขึ้น รู้จักการพูดเป็นคำ แทนใช้ภาษาทารก เช่นลูกอาจพูดคำว่า “หิวข้าว” แทนการออกเสียงว่า “หม่ำๆ”  ในวัยนี้พวกเขาสามารถจดจำและเข้าใจคำศัพท์ใหม่ๆ ได้มากกว่า 50 คำ

2. พัฒนาการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ในวัย 2 ขวบ กล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กและมัดใหญ่ของลูก มีพัฒนาการและแข็งแรงมากขึ้น พวกเขาสามารถเดินได้คล่องแคล่วขึ้น เริ่มที่จะรู้จักการวิ่งเล่น หลบสิ่งกีดขวาง สามารถกระโดดได้ด้วยเท้าทั้ง 2 ข้าง เล่นโยนลูกบอล หรือเตะลูกบอลไปบนพื้นได

3. พัฒนาการด้านการสื่อสารและเข้าสังคม นี่คือวัยที่เขาเริ่มรู้จักการเข้าสังคม เพราะลูกจะเริ่มสนใจในสิ่งที่คนอื่นๆ ทำ ทั้งพ่อแม่ และเพื่อนๆ หรือเด็กคนอื่นๆ และที่สำคัญ เขาสนใจความเป็นตัวเอง เริ่มที่จะค้นหาตัวเอง มีการแสดงออกทางด้านอารมณ์มากขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและใส่ใจอย่างใกล้ชิด

4. พัฒนาการด้านความคิดและการเรียนรู้ ลูกน้อยวัยเตาะนั้น จะเริ่มมีการใช้ความคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น พวกเขาพร้อมที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากขึ้น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพัฒนาการของพวกเขาได้เช่น พวกเขาสนุกกับการเล่นของเล่นที่มีความซับซ้อนมากขึ้น สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ ของพ่อแม่เช่น “ถอดเสื้อแล้วเอาไปแขวนตรงนั้น”

.

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เพื่อเสริมพัฒนาการให้แก่ลูกวัย 2 ขวบ

เนื่องจากวัย 2 ขวบ คือช่วงเวลาสำคัญในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ เราจึงอยากแนะนำสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำเพื่อเสริมพัฒนาการให้ลูกดังต่อไปนี้

1. ชวนลูกคุย การพูดคุยกับลูกบ่อยๆ นั้น จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ และได้เรียนรู้วิธีการใช้ภาษาที่ถูกต้อง ได้รู้จักการเข้าสังคม จากการที่คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สมัยใหม่อาจเข้าใจผิดว่า การเปิดวีดีโอให้ลูกดู แล้วลูกสามารถพูดตามวีดีโอได้ จะช่วยให้เขาพูดได้ไว แต่นั่นคือเรื่องที่ไม่ควรทำ เพราะพวกเขาอาจแค่เลียนแบบการพูดในวีดีโอแต่ไม่ได้เข้าใจหรือมีพัฒนาการในด้านภาษามากขึ้น

2. ให้อิสระในการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า ลูกในวัยเตาะแตะนั้น สามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้นกว่าตอนที่เขาเป็นทารกเยอะมาก ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้อิสระแก่ลูก ในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ด้วยตัวของเขาเองมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือในทุกๆ เรื่อง คอยใส่ใจและสังเกตเขาอยู่เรื่อยๆ ก็พอ

3. สอนให้รู้จักระงับอารมณ์ เด็กในวัยนี้จะเริ่มรู้จักอารมณ์โกรธ โมโห อิจฉา ซึ่งอาจนำไปสู่การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือการสอนเขาให้เข้าใจ ให้รู้จักระงับอารมณ์ รู้จักความอดทน อดกลั้น สอนให้รู้จักใช้เหตุผล ซึ่งคุณแม่สามารถเริ่มสอนได้จากการให้พวกเขาทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น เก็บของเล่นให้เข้าที่หลังเล่นเสร็จ เป็นต้น

4. ให้ลูกได้ขยับร่างกาย เพราะนี่คือช่วงเวลาที่ทักษะทางด้านกายภาพ การเคลื่อนไหว มีการพัฒนาอย่างจริงจัง คุณแม่ควรพาลูกออกไปเล่น เพื่อให้เขาได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ให้คล่องแคล่วขึ้น ให้ลูกได้วิ่ง กระโดด ปีนป่าย เตะหรือโยนลูกบอล โดยที่คุณพ่อคุณแม่ คอยเฝ้าดู ว่าปลอดภัยหรือไม่อยู่ห่างๆ ระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ

.

วิธีสังเกตว่าลูกมีพัฒนาการช้าหรือไม่

สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตคือสัญญาณเตือนว่า ลูกน้อยวัยเตาะแตะนั้น มีพัฒนาการช้า หรือพัฒนาการที่ผิดปกติ สำหรับลูกน้อยวัย 2 ขวบนั้น สัญญาณเตือนที่ต้องคอยสังเกตได้แก่

⦿ เดินไม่มั่นคง

⦿ เดินพร้อมถือของไม่ได้

⦿ ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมาย

⦿ ไม่ตอบสนอง ไม่สามารถทำตามคำสั่งง่ายๆ

⦿ มีพฤติกรรมแปลกๆ ที่เปลี่ยนแปลงโดยอธิบายไม่ได้

หากพบสัญญาณเตือนเหล่านี้ ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อทำการตรวจประเมินพัฒนาการ ให้ความรู้ หรือฝึกสอนวิธีการกระตุ้นพัฒนาการที่ถูกต้อง

.

โภชนาการที่เหมาะสมของลูกน้อยวัย 2 ขวบ

พัฒนาการที่ดีนั้น ต้องมาควบคู่กับสุขภาพที่แข็งแรงของลูก ดังนั้นเรื่องโภชนาการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจ สำหรับเด็กวัย 2 ขวบนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกรับประทานอาหารหลัก 3 มื้อ โดยมีสารอาหารครบ 5 หมู่ และแนะนำให้ลูกได้กินอาหารที่หลากหลาย ไม่เลือกกิน ควรให้ลูกได้รับสารอาหารสำคัญอย่างเช่น โปรตีน, แคลเซียม, ธาตุเหล็ก และสารอาหารสมองอย่าง สฟิงโกไมอีลิน หนึ่งในสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการสร้างไมอีลิน ที่ช่วยให้สมองส่งข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสฟิงโกไมอีลินนั้น นอกจากจะพบได้ในนมแม่แล้ว ยังพบได้ใน ไข่, นม, ชีส และผลิตภัณฑ์นมอีกด้วย

.

บทความจาก >> S-Mom Club

#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย #ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน #คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้ #เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี 
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ #หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย #คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว

#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน
#ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย
#คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี
#คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง