การฉีดวัคซีน Pfizer / Sinopharm ในเด็ก

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยความคืบหน้าการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์ให้นักเรียนนักศึกษา อายุ 12-17 ปี เข็มแรกไปแล้ว 1,233,655 คน คิดเป็น 27.4% จากกลุ่มเป้าหมาย 4.5 ล้านคน (ข้อมูลตั้งแต่ 28 ก.พ.-18 ต.ค.)

.

โดย สธ. ยังคงติดตามเฝ้าระวังอาการและความปลอดภัยในข้อกังวลเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งแม้อัตราการเกิดต่ำมาก แต่ขอให้ผู้ปกครองสังเกตอาการ

วัคซีนโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ เป็นวัคซีนชนิด mRNA 1 ใน 2 ยี่ห้อ ที่ได้รับการอนุมัติใช้ในเด็กอายุ 12 ปีขึ่นไป จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งในขณะนี้ไฟเซอร์เป็นเพียงยี่ห้อเดียวที่มีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย

ประเด็นสำคัญก่อนหน้านี้ ซึ่งมีคำแนะนำของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กผู้ชาย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า จะมีการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ หากมีการปรับเปลี่ยนจะดำเนินการให้ทันก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

จากเอกสารเผยแพร่ข่าวจากระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 1 ต.ค. นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ. กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มนักเรียน มีผู้ปกครองแสดงความจำนงให้บุตรหลานฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 3,618,000 กว่าราย คิดเป็น 71% ของตัวเลขนักเรียนทั่วประเทศ 5,048,000 ราย จากฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ซึ่งขณะนี้ล็อตแรกเข้ามาแล้ว 2 ล้านโดส จะกระจายให้ทุกจังหวัด โดยสัดส่วนวัคซีนจะพิจารณาความพร้อมของแต่ละจังหวัดด้วย และจะส่งให้ครบภายในเดือน ต.ค. ซึ่งจะมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามารวม 8 ล้านโดส

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่าการเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 4 ต.ค. เริ่มตามความพร้อม และไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดของการฉีดวัคซีน เนื่องจากอาจมีผู้แสดงความจำนงขอฉีดเพิ่มก็จะดำเนินการฉีดให้ ไม่เสียสิทธิแต่อย่างใด สถานที่ฉีดสามารถฉีดได้ทั้งที่สถานศึกษาและโรงพยาบาล โดยขอให้บริหารจัดการคิวไม่ให้มีความแออัด

อะไรคือ ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ที่จะดำเนินการฉีดในเด็กอายุ ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และมีคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข และจากกลุ่มแพทย์เฉพาะทางอย่างราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยอย่างไรบ้าง บีบีซีไทยรวบรวมมาไว้ ณ ที่นี้

.

ฉีดกี่โดส ห่างกันเท่าไหร่

อ. กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ระบุว่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉีดจำนวน 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์

ส่วนข้อเสนอการฉีดวัคซีนในเด็กผู้ชายเพียงเข็มเดียว จะมีการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ หากมีการปรับเปลี่ยนจะดำเนินการให้ทันก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

กลุ่มเด็กประถมอายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่อยู่ในเกณฑ์การรับวัคซีน ข้อแนะนำคือใช้มาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากดำเนินการได้ดีก็ยังสามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้

คำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับเด็กและวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า เด็กและวัยรุ่นอายุ 16-18 ปี ขึ้นไป ทุกรายไม่มีข้อห้ามในการฉีดวัคซีน และเน้นกว่าในกลุ่มวัย 12- น้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท ไฟเซอร์-ไบออนเทค ซึ่งวัคซีน mRNA อีกชนิดที่ขึ้นทะเบียนในเด็กแล้วสำหรับประเทศไทย มีวัคซีนโมเดอร์นาอีกยี่ห้อ แต่ขณะนี้ยังไม่เข้ามาในประเทศไทย

.

การฉีดวัคซีน mRNA ในเด็กผู้ชาย กับภาวะกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบ

สำหรับเด็กและวัยรุ่นชายอายุ 12 ปีขึ้นไป พ่อแม่ผู้ปกครองอาจจะยังต้องติดตามข้อมูลจากทางการต่อเนื่องในประเด็นเกี่ยวกับเข็มที่สอง

คำแนะนำจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ (เมื่อ 22 ก.ย.) บอกว่า สำหรับเด็กและวัยรุ่นชายที่แข็งแรงดี ให้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และชะลอการให้เข็มที่ 2 ไปก่อน จนกว่าจะมีข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติม เนื่องจากการฉีดเข็ม 2 ในเด็กกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงสูงกว่าเข็มแรกจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ “ซึ่งพบน้อยมาก”

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุเหตุผลเกี่ยวกับคำแนะนำนี้ว่า เนื่องจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด mRNA มีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อและเยื่อหัวใจอักเสบได้สูงสุดในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุนี้ และมักพบสัมพันธ์กับภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มสอง

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ได้อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของ ระบบรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากวัคซีนของสหรัฐอเมริกา (Vaccine Adverse Event Reporting System – VAERS) ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-18 มิ.ย. 2564 รายงานอัตราการเกิดอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นชายในกลุ่มอายุ 12- น้อยกว่า 16 ปี ในอัตรา 162.2 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส

ในขณะที่อัตราอาการข้างเคียงของระบบหัวใจในเด็กและวัยรุ่นในเด็กหญิงกลุ่มอายุเดียวกันพบในอัตราที่ต่ำกว่ามาก คือ 13 ต่อการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1 ล้านโดส

ส่วนข้อมูลเรื่องการป้องกันเชื้อไวรัสทั้งในแง่สายพันธุ์และความรุนแรงหลังจากฉีดไฟเซอร์ เข็มที่ 1 และ 2 พบว่าประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ 36% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 88% หลังฉีดเข็มที่สอง

นอกจากนี้ยังป้องกันการติดโควิดที่อาการรุนแรงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 94% หลังฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 96% หลังฉีดเข็มที่สอง

คำแนะนำนี้จึงพิจารณาให้เด็กและวัยรุ่นหญิงได้รับประโยชน์จากวัคซีนเต็มที่จากการฉีด 2 เข็ม ในขณะที่เด็กผู้ชายจะต้องมีการประเมินประโยชน์และความเสี่ยงเพิ่มเติมเมื่อได้ข้อมูลในบริบทของประเทศไทยเพิ่มขึ้น ก่อนจะให้คำแนะนำในการฉีดเข็มต่อไป

.

ต้องเฝ้าระวังอาการอะไรบ้าง

การติดตามเฝ้าระวังอาการและความปลอดภัยใช้ระบบเดียวกับผู้ใหญ่ โดยมีการเฝ้าระวังอาการแพ้รุนแรงช่วง 30 นาทีแรกหลังฉีด และมีการติดตามอาการต่อเนื่องอีก 30 วัน

กรณีข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ นพ.เฉวตสรร จากกรมควบคุมโรค บอกเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ว่า อัตราการเกิดต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ขอให้สังเกตอาการ ดังนี้

⦿ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก

⦿ หอบเหนื่อยง่าย

⦿ ใจสั่น

⦿ หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ

หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมารับการรักษา เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างถูกต้อง เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเกิดจากภาวะอื่นได้ และข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน ไม่แนะนำเรื่องออกกำลังกายหนักๆ ทั้งในเด็กและวัยรุ่นหญิงชาย เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และความรู้สึกเหนื่อยจากออกกำลัง อาจทำให้กังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่

.

ทำไมจึงไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ

สำหรับคำแนะนำให้งดออกกำลังกายอย่างหนัก หรือทำกิจกรรมอย่างหนักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีนนั้น สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับรายงานการเกิดผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั่นเอง

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ บอกว่า ภาวะนี้แม้จะพบในอัตราที่ต่ำ แต่เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน จึงแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและวัยรุ่นชาย ที่ได้รับวัคซีนทั้งเข็มที่ 1 และ 2 ให้งดออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ เป็นเวลา 1 สัปดาห์

ในเวลาดังกล่าวนี้หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่นหน้ามืดเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์

และหากแพทย์สงสัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ควรพิจารณาตรวจค้นเพิ่มเติม

.

ความเห็นจาก นพ. ยง เกี่ยวกับภาวะเยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

เกี่ยวกับภาวะเยื่อหุ้มและกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เขียนไว้บนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ร่วมกับ ไพโรจน์ โชติวิทยธารากร เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า ส่วนใหญ่มีอาการใน 1-7 วันหลังได้รับวัคซีน แต่อาจพบได้นานถึง 6 สัปดาห์ อาการ มักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ มีส่วนน้อยที่ต้องให้การรักษาด้วย IVIG (Intravenous immunoglobulin หรือยาอิมมูโนโกลบูลินที่ให้ทางหลอดเลือดดำ) ผู้ป่วยที่ตรวจพบมีความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจมักกลับมาปกติภายใน 3 เดือน แต่ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบระยะยาว

ศ.นพ.ยง ระบุด้วยว่า เหตุที่พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และพบในการฉีดเข็ม 2 มากกว่าเข็มแรก คงต้องรอคำตอบการศึกษากลไกการเกิดโรค ในปัจจุบันกลไกการเกิดภาวะดังกล่าวยังไม่ทราบ

ส่วนการแนะนำให้หยุดออกกำลังกายภายหลังการฉีดวัคซีน 1-2 สัปดาห์ ไม่ลดผลของการเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน แต่จะลดอาการที่เกิดจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ให้มีความรุนแรงได้
.
บทความจาก >> BBC NEWS ไทย

#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย #ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน #คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้ #เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี 
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ #หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย #คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว

#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน
#ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย
#คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี
#คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง