ทำอย่างไรเมื่อลูกน้ำหนักน้อย

เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน หลักๆ มักมีสาเหตุดังนี้

1. การเลี้ยงดู เด็กรับประทานน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือรับประทานไม่ถูกต้องทั้งปริมาณและคุณค่า เนื่องจากความไม่รู้หรือตามใจเด็ก

2. ภาวะเจ็บป่วยของร่างกาย อาจมีโรคเรื้อรังหรือปัญหาของความพิการแต่กำเนิด ทำให้การเจริญเติบโตช้า เช่น โรคหัวใจ

3. การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนดึก ในระยะแรกน้ำหนักจะต่ำกว่าเกณฑ์ ยังไม่มีผลต่อความสูง แต่ถ้าต่ำอยู่ระยะหนึ่งแล้วจะมีผลต่อความสูง เด็กจะไม่ค่อยสูงเท่าเด็กปกติ

4. ความเข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรงและน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามให้เด็กรับประทานมากขึ้น และเข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไปทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน

 

เกณฑ์การวัดว่าเด็กมีน้ำหนักปกติหรือไม่

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้กราฟแสดงการเจริญเติบโตของทารกในการเฝ้าติดตามการเติบโตของทารก เพื่อไม่ให้การประเมินผิดพลาดว่าทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์หรือมีภาวะเลี้ยงไม่โต (failure to thrive)

โดยเกณฑ์ในการวัดว่าทารกหรือเด็กมีภาวะการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ คือมีน้ำหนักหรือส่วนสูงต่ำกว่า (<) 3 percentile ซึ่งกราฟนี้จะมีในประวัติสมุดสุขภาพของเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว หากพ่อแม่เช็กตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง (ซึ่งจะมีในสมุดบันทึกวัคซีนของลูก) ว่าอยู่ในช่วงปกติหรือไม่ ช่วงปกติจะอยู่ระหว่าง P25-P75

⦿ หนูน้อยแรกเกิด เกณฑ์น้ำหนักจะอยู่ที่ ประมาณ 3 กิโลกรัม

⦿ 4-5 เดือน เกณฑ์น้ำหนักจะอยู่ที่ 4-5 กิโลกรัม

⦿ 1 ปี เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 9 กิโลกรัม

⦿ 2 ปี เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากน้ำหนักแรกเกิดหรือประมาณ 12 กิโลกรัม

⦿ 2-5 ปี เพิ่มประมาณ 2.3-2.5 กิโลกรัม/ปี

 

คำแนะนำเรื่องอาหารเมื่อลูกมีน้ำหนักน้อย

1. ให้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ สำหรับเด็กวัย 6-12 ปี ในแต่ละมื้อควรประกอบด้วย

⦿ ข้าวมื้อละ 1-2 ทัพพี

⦿ เนื้อสัตว์ 2 ช้อนกินข้าว หรือไข่ 1 ฟอง เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพ ในเด็กที่น้ำหนักน้อยรับประทานได้ทุกวันวันละ 1 ฟอง ปลาไขมันสูง เช่น ปลาอินทรี ปลาดุก ปลาสวาย สำหรับคุณแม่ลูกเล็กแนะนำว่าควรให้ลูกรับประทานปลาอินทรี เพราะเป็นปลาที่ค่อนข้างเอาก้างออกง่าย

⦿ ผัดผัก 1 ทัพพี ควรเลือกผักที่มีแป้งมากและให้พลังงานสูงสลับกับผักใบเขียว

⦿ ผลไม้ เช่น ส้ม 1 ผล หรือกล้วย 1 ผล หรือมะละกอ 4-5 ชิ้นคำ หรืออะโวคาโด ½ ลูก หรือองุ่น 5-6 ผล หรือผลไม้อื่นๆ

⦿ นมครบส่วน 1-3 แก้ว แล้วแต่วัย

⦿ ควรเพิ่มน้ำมันในอาหารทุกมื้อเท่าที่ทำได้ ประมาณ 1-2 ช้อนชาต่อมื้อ ไขมันจะช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก

2. ปัญหาเด็กที่มีน้ำหนักน้อย แต่ละมื้อหากรับประทานได้น้อยอาจจะต้องแบ่งมื้อย่อยๆ สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่เด็กชอบ ปรุงรสชาติให้ถูกปากเพราะเด็กสามารถแยกแยะรสชาติได้ตั้งแต่อายุไม่กี่สัปดาห์

3. ไม่ให้นมมากเกินไป เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปีควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลักวันละ 3 มื้อ ส่วนนมจะเป็นอาหารเสริมเท่านั้น จึงต้องลดปริมาณลงเหลือวันละ 3-4 มื้อ และควรให้นมหลังอาหารเท่านั้น

4. หากเด็กอยู่ในวัยซุกซนหรือห่วงเล่น อาจให้มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารและฝึกให้รับประทานอาหารเป็นเวลา สม่ำเสมอ และควรรับประทานพร้อมๆ กันทั้งครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างและสร้างบรรยากาศการรับประทานอาหารให้เด็ก

5. ให้เด็กรู้สึกหิวก่อนถึงมื้ออาหาร โดยงดอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้อ เพราะเมื่อเด็กอายุเกิน 1 ปี ควรรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก ไม่ควรให้เด็กรับประทานขนมกรุบกรอบ ลูกอมทอฟฟี่ หรือนม ก่อนมื้ออาหาร เพราะเด็กจะอิ่มทำให้เด็กรับประทานอาหารได้น้อย หากจะให้ควรให้หลังอาหารหากเด็กรับประทานได้เหมาะสม

6. การที่เด็กรับประทานน้อยจะได้สารอาหารไม่ครบและอาจขาดวิตามิน เกลือแร่บางตัว ซึ่งส่งผลให้เด็กเบื่ออาหาร แพทย์จะเสริมยาบำรุงให้ในช่วงแรก เมื่อเด็กได้รับวิตามิน เกลือแร่ที่ขาดก็จะมีอาการดีขึ้น อาการเบื่ออาหารก็จะลดลง

7. ให้เด็กนอนแต่หัวค่ำ ไม่ควรนอนเกินสามทุ่ม วัยเรียนเด็กควรได้นอนหลับพักผ่อนวันละ 8-10 ชั่วโมง การนอนดึกจะทำให้การเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่ และในช่วงเวลาการนอนตั้งแต่เวลา 22.00-02.00 น. เป็นช่วงที่ร่างกายมีการหลั่ง growth hormone ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตของเด็ก

8. ไม่ใช้วิธีผิดๆ เพื่อให้เด็กรับประทานมากขึ้น เช่น การตี ดุว่า บังคับ ใช้อารมณ์กับลูกหรือการตามใจ ต่อรอง หรือให้รางวัลเกินความจำเป็น

9. ขณะมื้ออาหารไม่ดูโทรทัศน์ หรือเล่นของเล่นไปด้วย เพราจะทำให้เด็กไม่สนใจเรื่องรับประทาน ทำให้รับประทานช้า อมข้าวและอิ่มเร็วโดยที่ยังรับประทานได้น้อย

10. ปรับเปลี่ยนลักษณะเมนูอาหารให้แตกต่าง ไม่ควรรับประทานเมนูซ้ำๆ บ่อยๆ เด็กอาจเบื่อ ทำให้ปฏิเสธอาหาร

11. เปิดโอกาสให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เรื่องการรับประทานให้มากที่สุดตามวัย โดยค่อยๆ ลดการให้ความช่วยเหลือลง

12. พาเด็กไปออกกำลังกาย วิ่งเล่น เมื่อเด็กได้ใช้พลังงานก็จะทำให้หิว ทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น

 

บทความจาก >> คมชัดลึก

#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย #ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน #คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้ #เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี 
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ #หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย #คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว

#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน
#ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย
#คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี
#คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง