พฤติกรรมลูกติดแม่ อาจจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร เพราะว่าตั้งแต่อยู่ในท้องจนออกมาเป็นเจ้าตัวเล็กในวันนี้ ระหว่างคุณแม่กับลูกน้อยจะมีสายใยที่เชื่อมต่อกัน คุณแม่จึงมักเจอกับการที่ลูกจะคอยเรียกหาแม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมให้คลาดสายตาไปเลย แถมยังร้องงอแงเมื่อแม่ห่างตัวไปอีก รู้ไหมคะเป็นเพราะอะไรลูกถึงติดแม่ขนาดนี้
.
นอกจากความรัก ความอบอุ่น ที่ลูกน้อยต้องการจากแม่แล้ว สำหรับเด็กเล็กทุกคนจะมีความวิตกกังวลในการแยกจาก ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับพัฒนาการทางอารมณ์ในช่วงเล็กๆ ของลูก เพราะการอยู่ใกล้แม่นั้นจะทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมั่นคง วันนี้เรารวบรวมคำตอบว่าทำไมลูกถึงติดแม่
.
พัฒนาการของเจ้าตัวเล็ก
เมื่อลูกเข้าสู่วัย 2 ขวบจะเริ่มรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวมากขึ้น เด็กจะเรียนรู้เรื่องเวลากับระยะทางที่ทำให้เขารู้สึกว่า เมื่อคุณแม่ไม่อยู่ในสายตาก็จะเข้าใจว่าคุณแม่อยู่ในที่ไกล แต่ไม่รู้ว่าไกลแค่ไหนและเมื่อไหร่แม่จะกลับมา ซึ่งการรับรู้แบบนี้จะทำให้ลูกรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เกิดความกังวลและความหวาดกลัว จนกลายเป็นความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นมา เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการลูกติดแม่นั่นเอง และอาจจะมีอาการติดแม่มากขึ้นเมื่อลูกอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง วันไหนที่คุณแม่ไปทำงานกลับบ้านค่ำ ทำให้ลูกอาจจะงอแงเรียกร้องความสนใจ และอยากให้คุณแม่มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้นก็ได้
.
ช่วงชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระหว่างลูกยังเป็นเด็ก ซึ่งอาจมีอาการติดกับอะไรซักอย่างรอบๆ ตัว เช่น คุณพ่อคุณแม่กำลังจะมีน้องอีกคน การเปลี่ยนพี่เลี้ยง การย้ายบ้าน การเข้าเนอสเซอรี่ หรือเข้าโรงเรียนใหม่ การหย่าร้าง ฯลฯ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกติดแม่ได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงจะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ไม่มั่นคง กลัวแม่ไม่รัก กลัวโดนทิ้ง เป็นต้น
.
จากการเลี้ยงดู
การเลี้ยงดูแบบประคบประหงม ทำอะไรให้ลูกทุกอย่าง ไม่ยอมปล่อยให้ลูกได้ทำอะไรเอง หรือการสอนลูกให้ระมัดระวังตัวมากเกินไป เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกมีอาการติดแม่ ไม่กล้าที่จะทำให้อะไรด้วยตัวเอง คอยแต่จะให้แม่ช่วย และความเคยชินที่มีแม่คอยปกป้องอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ลูกยึดติดกับแม่มากขึ้น การเลี้ยงลูกในลักษณะนี้จะปลูกฝังความกลัวอย่างไม่มีเหตุผลให้กับลูกได้ ทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง และไม่กล้าที่จะเผชิญปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกในอนาคตได้
.
เมื่อเจ้าตัวเล็กเริ่มโตขึ้น การปล่อยให้ลูกมีพฤติกรรมติดแม่หนักเข้าอาจไม่ส่งผลดีต่อตัวเด็ก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้แก้ไข เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นถึงเวลาที่จะต้องเข้าโรงเรียน หรือมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาจทำให้เกิดปัญหาตามมาแน่นอน ดังนั้นเมื่อทราบถึงสาเหตุแล้วอย่ามองข้ามหรือทำโทษลูก ควรปรึกษากับคุณพ่อเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาลูกติดแม่ เพื่อให้ลูกได้เติบโตขึ้นในทิศทางที่ดีนะคะ
.
บทความจาก >> theAsianparent