9 สัญญาณ บอกว่าลูกพร้อมนั่งขับถ่ายได้แล้ว

หนึ่งในเป้าหมายของคุณเมื่อลูกเข้าสู่วัยเตาะแตะก็คือ การให้ลูกได้ฝึกขับถ่ายและเข้าห้องน้ำเองได้อย่างมีความชำนาญ ในช่วงเวลาที่ลูกกำลังเจริญเติบโต การควบคุมการขับถ่าย เป็นหนึ่งในความสามารถทางพัฒนาการที่มีความสำคัญต่อเด็กและครอบครัว ซึ่งต้องอาศัยความพร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจของลูกด้วย

.

การฝึกลูกขับถ่าย เป็นสิ่งหนึ่งที่คุณแม่คาดหวังเอาไว้ว่าอย่างน้อยเจ้าตัวเล็กในวัยเตาะแตะของคุณแม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ควรมองดูด้วยว่าลูกมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจหรือยัง เพราะปัญหาที่พบบ่อยที่ลูกน้อยปฏิเสธที่จะฝึกขับถ่าย เช่น พื้นฐานทางอารมณ์ของลูกหรือการฝึกโดยไม่เข้าใจจากคุณพ่อคุณพ่อเอง

.

ทำไม ต้องฝึกการขับถ่ายให้ลูก

นิสัยการขับถ่ายปัสสาวะ และ อุจจาระที่เหมาะสมของลูกจะส่งเสริมให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางกาย จิตใจ อารมณ์และพฤติกรรมเหมาะสมตามวัย เด็กที่มีการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ดราด หรือแม้แต่การฉี่รดที่นอน เกิดความอับชื้นของกางเกงอาจทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นอ่อนแอ จนเป็นรอยถลอกและติดเชื้อง่าย การกลั้นปัสสาวะหรือการที่ลูกไม่ชอบเข้าห้องน้ำทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ได้ตามปกติจนมีผลกระทบต่อไตเกิดความเสียหายอย่างถาวร การไม่ถ่ายอุจจาระเป็นประจำจะทำให้อุจจาระแข็ง เจ็บทวารหนักเวลาถ่าย อาจทำให้เกิดแผล ฝี หรือริดสีดวงทวาร ทำให้ท้องอืดไม่อยากอาหาร จนลูกเจริญเติบโตช้ากว่าที่ควร ถ้าลูกไปโรงเรียน ลูกอาจจะมีปัญหาในการดูแลความสะอาดเมื่อเกิดการขับถ่ายเล็ดราด จนกระทบต่อกิจกรรมของลูกและสัญญานที่บอกว่าลูกพร้อมนั่งอึเองได้แล้ว

.

เตรียมการฝึกลูกน้อย

1. ตัวลูกน้อย สอนให้สื่อสาร ส่วนใหญ่ใช้คำว่า “ฉี่” แทนปัสสาวะ และ “อึ” แทนอุจจาระ อาจสอนผ่านทางหนังสือหรือสื่อต่างๆ ที่มีรูปภาพของการฝึกขับถ่าย รูปกระโถน รูปชักโครก รูปห้องน้ำ ให้ลูกได้เห็นเวลาพ่อแม่ถ่ายปัสสาวะที่โถส้วม

2. พ่อ แม่ และผู้ดูแลเด็ก ทุคนที่ร่วมดูแลลูกควรพร้อมที่จะให้เวลาในการฝึกอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ทั้งเมื่ออยู่ในบ้านและเมื่อออกนอกบ้าน เข้าใจวิธีการฝึกที่ตรงกัน มีความเข้าใจว่าลูกต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และไม่คาดหวังมากเกินไป

3. กระโถน ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกกระโถน ควรเลือกขนาดไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ต้องให้ลูกนั่งได้อย่างสบาย ไม่เกร็ง ไม่หนีบขา อาจต้องมีไว้อีก 1 กระโถน ที่เหมือนกันสำหรับสถานที่รับเลี้ยงเด็กถ้าต้องฝากเลี้ยงในระหว่างวัน ไม่เปลี่ยนห้องที่วางกระโถนให้มีของเล่น และ หนังสือที่ลูกชอบในห้องนั้น

4. กางเกง ลูกควรมีส่วมร่วมในการเลือกกางเกง โดยพ่อแม่ช่วยเลือกแบบที่ใส่สบาย ไม่รัดรูป ลูกสามารถดึงขึ้นลงได้ง่ายด้วยตนเอง

.

การฝึกลูกน้อยขับถ่าย

1. ให้รู้จักบอกเมื่อจะขับถ่าย และให้รู้จักขับถ่ายในที่ที่เหมาะสม สังเกตการณ์แสดงออกของลูก เมื่อจะขับถ่าย เช่น อยู่ๆ ก็หยุดอยู่กับที่ ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด อารมณ์ไม่ดี จับที่ผ้าอ้อมหรืออวัยวะเพศ เป็นต้น เมื่อมีการแสดงออกที่สงสัยว่าจะขับถ่ายให้ถามลูกว่า “ฉี่ไหม” หรือ “อึไหม” เพื่อให้ลูกรู้ว่าเป็นการปวดปัสสาวะ หรือ อุจจาระ แล้วจึงพาไปที่กระโถนหรือห้องน้ำ เมื่อถูกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ว่าจะถ่ายรดผ้าอ้อม รดกางเกง หรือถ่ายลงในกระโถนก็ใก้บอกลูกว่า “ฉี่เหรอ” หรือ “อึเหรอ” แล้วพาไปเข้าห้องน้ำ ล้างทำความสะอาด และให้ทิ้งสิ่งขับ  ถ่ายลงในโถส้วมให้ลูกได้เห็น

2. ให้คุ้นเคยกับการนั่งกระโถน ให้ลูกลองนั่งกระโถนบ่อยๆ อาจนั่งโดยที่ในช่วงแรกลูกยังอยากที่จะสวมผ้าอ้อมไว้ หรือถ้าลูกยอมก็ให้นั่งในขณะที่ไม่ได้สวมผ้าอ้อม หากิจกรรมให้ลูกทำระหว่างการนั่งกระโถน เช่น อ่านนิทานให้ฟัง เล่นของเล่นเป็นต้น ให้ชวนลูกนั่งกระโถนทุก 2-3 ชั่วโมง หรือใน ½ ชั่วโมง หลังกินนมหรือน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะ และให้ลูกนั่งกระโถนในช่วงเช้าทุกวันหลังตื่นนินหรือหลังมื้ออาหาร เพื่อถ่ายอุจจาระ ให้นั่งไม่นานเกิน 2-3 นาทีในแต่ละรอบเพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกเบื่อ ไม่ควรคาดหวังว่าในช่วงแรกลูกจะถ่ายออกทุกครั้งที่หัดนั่งกระโถน ให้ชมเชยทุกครั้งหรืออาจให้เป็นสติ๊กเกอร์ติดที่รอบกระโถนเมื่อลูกนั่งที่กระโถน ถึงแม้ว่าลูกไม่ได้ถ่ายปัสสาวะหรือถ่ายอุจจาระ

.

เทคนิคช่วยการขับถ่ายของลูกน้อย

1.เปลี่ยนจากใช้กระโถนมาขับถ่ายที่โถส้วม ให้ใช้ฝารองนั่งชักโครกและหาที่วางเท้าให้ลูกวางได้เต็มฝ่าเท้า ไม่ให้เท้าลอยจากพื้นเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้ม

2. ฝึกขับถ่ายให้สม่ำเสมอ ให้ลูกน้อยขับถ่ายเป็นเวลา กำหนดเวลาให้ถ่ายปัสสาวะทุก 2-3 ชั่วโมง ในระหว่างวัน และให้ถ่ายอุจจาระทุกวัน วันละ 1 ครั้ง

3. ไม่ตำหนิหรือหงุดหงิดใส่ เมื่อลูกถ่ายรดกางเกงแต่ให้ชมเชยทุกครั้งเมื่อลูกขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง

4. ให้ถ่ายปัสสาวะซ้ำ จะเป็นประโยชน์สำหรับลูกที่มีปัญหาระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะไหลย้อน หรือ กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไม่ดี โดยให้ลูกถ่ายปัสสาวะซ้ำอีกครั้ง โดยเว้นช่วงประมาณ 1 นาที หลังการถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้ง

5. ดื่มน้ำเปล่าให้มากพอ ช่วยกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะและช่วยให้อุจจาระนุ่มถ่ายออกง่าย

6. กินอาหารที่มีกากใยให้เพียงพอ ช่วยกระตุ้นให้ปวดอุจจาระ

7. ไม่ดื่มนมมากเกินไป เนื่องจากนมมีปริมาณไขมันมากทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าลง ทำให้การฝึกขับถ่ายอุจจาระยากขึ้น โดยทั่วไปเด็กอายุ 1-2 ปี ไม่ควรดื่มนมเกิน 32 ออนซ์ ต่อวัน

.

ฝึกลูกขับถ่าย 9 สัญญานที่บอกว่าลูกพร้อมนั่งอึเองได้แล้ว

1. ความพร้อมในการฝึกลูกขับถ่าย ควรจะเกิดขึ้นในเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างลงตัว เช่น เวลา สถานที่ และอายุ แม้แต่การป่วยเป็นหวัดเล็กๆ น้อย ก็อาจทำให้เจ้าตัวเล็กนั้นยังไม่อยากเริ่มต้นที่จะฝึกนั่งกระโถนตอนนี้

2. เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยกับกับการถอดผ้าอ้อม สำเร็จลูกและสามารถใส่และถอดกางเกงได้เอง

3. เลือกใช้กระโถนที่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก และหาสิ่งที่น่าสนใจดึงดูดเจ้าตัวน้อยในยามที่เข้ามาใช้ห้องน้ำ ควรหาเก้าอี้เล็กๆ ไว้สำหรับให้ลูกได้วางเท้าได้เต็มฝ่าเท้า เพื่อจะได้เบ่งถ่ายง่ายขึ้นโดยไม่ต้องกลัวล้มหรือตกลงมา

4. เมื่อลูกรู้จักบอก และไม่ชอบความเฉอะแฉะของผ้าอ้อมที่เปียกชื้นและสกปรก

5. เมื่อลูกสามารถควบคุมการขับถ่ายได้ โดยไม่ฉี่ราดหรืออุจจาระราด แสดงให้รู้ว่าไม่ชอบที่จะทำเลอะเทอะในกางเกงหรือผ้าอ้อมที่ใส่อยู่ เริ่มแสดงออกทางสีหน้าท่าทางว่ารู้สึกปวดอุจาระหรือปัสสาวะ

6. เมื่อลูกเริ่มเข้าใจคำว่า “ฉี่” หรือ “อึ” และทำตามคำแนะนำง่ายๆ และกระตือรือร้นในการเรียนรู้

7. เมื่อลูกสามารถสื่อสารบอกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ เด็กน้อยวัยเตาะแตะนั้นต่างก็มีวิธีการของตนเองในการบ่งบอกถึงสิ่งที่ต้องการ ซึ่งไม่ได้มีแค่การสื่อสารด้วยการพูดเพียงอย่างเดียวที่จะเป็นสัญญาณแสดงถึงความพร้อมในการฝึกเข้าห้องน้ำ แต่อาจจะเป็นการชี้ การทำท่าทาง การส่งสัญญาณต่าง ๆ หรือแม้แต่การเต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นการสื่อสารที่จะบอกได้ว่าลูกกำลังจะถ่ายออกมาแล้วนะ

8. เมื่อลูกสามารถนั่งอยู่นิ่งได้ช่วงเวลาหนึ่ง เพราะเด็กวัยเตาะแตะนั่นไม่ค่อยชอบที่จะนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานๆ ดังนั้นพ่อแม่อาจจะต้องคอยอ่านหนังสือ ร้องเพลง หรือแม้แต่เล่นตุ๊กตาชักใยให้ดูในห้องน้ำเพื่อสร้างความสนุกในตอนที่กำลังฝึกให้ลูกนั่งโถ เพื่อให้เขานั่งโถได้นานพอที่จะ “ขับถ่าย” ออกมา

9. เมื่อลูกเรียกร้องที่จะใส่กางเกงในมากกว่าที่จะใส่ผ้าอ้อม เมื่อลูกคุ้นเคยดีแล้วพ่อแม่ควรสอนลูกพร้อมกับเรื่องการทำความสะอาด เช่น การล้างการเช็ด และสอนให้ล้างมือทุกครั้งหลังจากเข้าห้องน้ำ

.

การขับถ่ายได้เองและตรงเวลาไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคท้องผูก

ท้องผูกในเด็กเป็นปัญหาที่พบได้มาก แม้จะดูเหมือนไม่ร้ายแรง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยให้ลูกมีอาการท้องผูกนานๆ โดยไม่ทำการรักษา ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกทั้งทางร่างกายและจิตใจได้

.

ท้องผูกในเด็ก ไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง เป็นเพียงอาการหนึ่งซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ พบว่า 95% ของอาการท้องผูกในเด็กเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารและนิสัยในการขับถ่าย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีอาหารฟาสต์ฟู้ดมากมาย ทำให้เด็กรับประทานผักและผลไม้น้อยลง ร่วมกับดื่มน้ำน้อย ทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายแล้วเจ็บ เมื่อเจ็บก็ทำให้เด็กกลัวการขับถ่าย จึงกลั้นอุจจาระ ซึ่งถ้ากลั้นอุจจาระจนเป็นนิสัย อุจจาระอยู่ในร่างกายนานๆ ก็จะแข็งขึ้น ก้อนใหญ่ขึ้น จึงเกิดอาการท้องผูกตามมาในที่สุด เด็กที่มีอาการท้องผูกมักมีอาการปวดท้องเป็นอาการนำ ซึ่งถ้าเป็นมากๆ ก็อาจทำให้มีอาการปวดท้องเหมือนเป็นโรคอื่นได้ เช่น เด็กบางรายที่มีอาการท้องผูกมากๆ อาจมีอาการปวดท้องมากจนเดินตัวงอเหมือนเป็นโรคไส้ติ่งอักเสบ ดังนั้นเมื่อลูกบอกว่าปวดท้อง คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกมีอาการอื่น เช่น มีไข้ ซึ่งแสดงถึงภาวะติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วอาการปวดท้องจากท้องผูกมักไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย เมื่อได้ถ่ายก็จะหายปวดได้เอง

.

ดังนั้น หากเด็กมีอาการท้องผูกมานานหรือปวดท้องไม่หาย คุณพ่อคุณแม่ควรพามาพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติการรับประทานอาหาร ในกรณีที่จำเป็นอาจต้องทำการเอกซเรย์ หรืออัลตราซาวนด์ร่วมด้วย เมื่อวินิจฉัยได้แน่ชัดแล้วว่าเป็นท้องผูก ก็อาจทำการสวนอุจจาระและแนะนำการปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน สำหรับรายที่มีอาการรุนแรงจนถึงจุดที่การปรับเปลี่ยนอาหารไม่สามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ แพทย์อาจต้องให้ยาเพื่อทำให้อุจจาระนิ่มลง ซึ่งจะช่วยให้เด็กไม่มีความเจ็บปวดเวลาถ่าย หายกลัว และสามารถถ่ายแบบธรรมชาติได้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยลดยาลง ทั้งนี้การรับประทานยาจำเป็นต้องทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการรับประทานอาหารและการฝึกขับถ่ายให้ตรงเวลาด้วย

.

การที่ลูกมีสัญญาณความพร้อมที่จะฝึกเข้าห้องน้ำได้เอง หลังจากนี้เด็กจะค่อยๆ ควบคุมการขับถ่ายได้ สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจาระได้ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตามความพร้อมในการฝึกขับถ่ายของเด็กแต่ละคนนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุที่แน่นอน บางคนได้เป็นได้เร็วหรือช้า ขึ้นกับพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูก ดังนั้นพ่อแม่ควรใช้ความอดทนในเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้การที่ลูกจะสามารถขับถ่ายได้เองยังเกิดผลดีต่อสุขภาพร่างกายของตัวเด็กเองอีกด้วย

.

บทความจาก >> theAsianparent

#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย #ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน #คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้ #เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี 
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ #หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย #คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว

#อบอุ่นเมื่อได้คุยกัน
#ใส่ใจลูกน้อยด้วยใจ
#ดูแลลูกน้อยด้วยหัวใจ
#ลูกน้อยห่างไกลภูมิแพ้
#คลินิกเด็กดีเติบโตสมวัย
#วัคซีนมือเบาเพื่อลูกน้อย
#คลินิกหมออ้อใจดีมีคำตอบ
#เด็กเติบโตสมวัยพัฒนาการดี
#คลินิกเด็กที่ดูแลทั้งครอบครัว
#เด็กเลี้ยงง่ายสบายท้องสมองดี
#หมออ้อใจดีคุยด้วยแล้วสบายใจ
#คลินิกเด็กหมอนุจรินทร์หาดใหญ่

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง